บทเรียน : ไม่อ่านพระคัมภีร์ ไม่กินข้าว

ข้อท่องจำ

“มีพระคัมภีร์เขียนไว้ว่า มนุษย์จะดำรงชีวิตด้วยอาหารเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องดำรงชีวิตด้วยพระวจนะทุกคำซึ่งออกมาจากพระโอษฐ์ของพระเจ้า”

- มัทธิว 4:4

เมื่อกลับบ้านวันนี้ หนูจะได้

  • มีโอกาสรู้จักคุ้นเคยกับวิถีชีวิตการรับใช้พระเจ้า
    ของมิชชันนารี
  • เห็นความสำคัญของการเป็นหุ้นส่วนในการประกาศข่าวประเสริฐ
  • มีส่วนในการสนับสนุนงานรับใช้ของมิชชันนารีผ่านคำหนุนใจและการถวาย

บทนำเรื่อง

รายการพิเศษ “สัมภาษณ์มิชชันนารี LIVE SHOW”(เชิญมิชชันนารีหรือผู้รับใช้พระเจ้าต่างถิ่นที่คริสตจักรอาจจะมีส่วนช่วยสนับสนุนงานพันธกิจ หรือหากไม่มี ครูอาจใช้บทบาทสมมติให้มีคนหนึ่งเล่นบทเป็นมิชชันนารี อาจแต่งตัว มีกระเป๋าเดินทาง ฯลฯ กำหนดประเทศ และงานพันธกิจของเขา)

เป้าหมาย: ให้เด็กได้สัมผัสชีวิตของมิชชันนารี ได้ฟังประสบการณ์ชีวิตของผู้รับใช้พระเจ้าว่า

  • พระเจ้าเรียกเขาอย่างไร และอะไรทำให้เขาตัดสินใจอุทิศถวายตัว?
  • เขาเองในฐานะเด็กสามารถเป็นหุ้นส่วนหรือพันธมิตรกับมิชชันนารีในการประกาศข่าวประเสริฐและในงานรับใช้ได้อย่างไร?

คำถามสัมภาษณ์ (ในระหว่างสัมภาษณ์ ครูอาจเปิดโอกาสให้เด็กมีโอกาสถามเพิ่มเติมในแต่ละคำถามเพื่อความกระจ่าง ขึ้นอยู่กับแต่ละสถานการณ์ ครูควรควบคุมทิศทางการสนทนาของเด็กๆ ให้ตรงกับเป้าประสงค์ของการสัมภาษณ์)

  • แนะนำชื่อ? มาจากไหน? มีครอบครัวไหม? แต่งงานหรือยัง? มีลูกกี่คน? อายุเท่าไรบ้าง?
  • ตอนนี้รับใช้พระเจ้าอยู่ที่ไหน? ทำอะไรบ้าง?
  • มารู้จักและต้อนรับพระเยซูเป็นพระผู้ช่วยให้รอดได้อย่างไร? ตอนอายุเท่าไร?
  • ทำไมถึงตัดสินใจออกไปรับใช้พระเจ้าเป็นมิชชันนารี?
  • รู้ได้อย่างไรว่าพระเจ้าเรียกให้เป็นมิชชันนารี?
  • ในเวลานั้นมีใครที่สนับสนุนหรือต่อต้านการตัดสินใจครั้งนั้นไหม? อย่างไร?
  • ก่อนที่จะเดินทางออกไปเป็นมิชชันนารี ต้องเตรียมตัวทำอะไรบ้าง?
  • มีเรื่องน่าตื่นเต้นในการรับใช้ที่อยากเล่าให้เด็กฟังไหม? มีเหตุการณ์ที่พระเจ้าช่วยเหลืออย่างอัศจรรย์ไหม?
  • ในงานรับใช้ มีอุปสรรคปัญหาอะไรบ้าง? และทำอย่างไรเมื่อเจอปัญหาเหล่านั้น?
  • มิชชันนารีที่ถูกส่งออกไป จำเป็นหรือต้องการให้คริสตจักรและพี่น้องคริสเตียนช่วยอะไรบ้างในชีวิตประจำวันและในงานรับใช้?
  • เด็กๆ สามารถทำอะไรได้บ้าง ถ้าต้องการจะเป็นหุ้นส่วน ร่วมมือกับมิชชันนารีในการประกาศและงานรับใช้?

ปิดการสัมภาษณ์ด้วยการอธิษฐานเผื่อมิชชันนารี และเผื่อเด็กๆ

“ไม่อ่านพระคัมภีร์ ไม่กินข้าว”

ภาพที่ 5  “No Bible, No Breakfast” (ไม่อ่านพระคัมภีร์ ไม่กินข้าว) เป็นคำขวัญประจำตัวและประจำใจของหมอเฮนรี่ตลอดชีวิตคริสเตียนของท่าน ทุกเช้าหมอเฮนรี่จะตื่นขึ้นมาเข้าเฝ้าพระเจ้า อ่านพระคัมภีร์เป็นบทๆ และอธิษฐานก่อนที่จะทำภารกิจอื่นใด และจะไม่กินข้าวเช้าจนกว่าจะได้กินอาหารฝ่ายวิญญาณก่อนเด็ดขาด เพราะมันคือแหล่งแห่งพลังที่ช่วยให้หมอเฮนรี่รับใช้พระเจ้าอย่างสัตย์ซื่อและไม่ย่อท้อ

ในเวลาที่งานประกาศแถบบ้านห้วยทรายถูกระงับลง สำหรับพระเจ้าไม่มีคำว่า “บังเอิญ” หรือ “โชคไม่ดี” แต่เวลานั้นเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่พระเจ้าได้เตรียมทางของพระองค์ที่จะนำชีวิตของคุณหมอจากชายแดนประเทศลาวเข้าสู่การรับใช้ในเมืองหลวงคือกรุงเทพมหานคร

ในช่วงปี 1970 (ประมาณ 50 ปีที่แล้ว) พระเจ้าเตรียมทางของพระองค์โดยใส่ภาระใจให้กับนักธุรกิจหญิงคนหนึ่ง เธอปรารถนาอยากจะเห็นสถาบันที่สอนพระคัมภีร์และพัฒนา คริสเตียนไทยให้เป็นผู้รับใช้พระเจ้าที่มีคุณภาพ เธอต้องการถวายเงิน 500,000 บาทซึ่งเป็นเงินจำนวนมากโข (ในปี 1970 ข้าวแกงและก๋วยเตี๋ยวชามละ 1 บาท, น้ำมันลิตรละ 2 บาท และทองคำบาทละ 400 กว่าบาท) เพื่อช่วยในก่อตั้งสถาบันพระคริสตธรรมในกรุงเทพฯ ที่ได้มาตรฐานในการฝึกอบรมคริสเตียนในระดับปริญญาให้เป็นผู้รับใช้พระเจ้าต่อไป (สถาบันพระคริสตธรรม ก็คือโรงเรียนที่ใช้พระคัมภีร์เป็นหลักในการสอนวิชาต่างๆ และฝึกฝนผู้เรียนให้พร้อมที่จะออกไปเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า ไม่ว่าจะในคริสตจักร องค์การ โรงเรียน หรือออกไปเป็นมิชชันนารี)

คณะมิชชั่น CMA และ OMF ร่วมกับผู้นำคริสเตียนไทยหลายท่านร่วมปรึกษาหารือและตกลงที่จะจัดตั้งสถาบันพระคริสตธรรมกรุงเทพ (BBC) ขึ้น จึงเขียนจดหมายเชิญชวนหมอเฮนรี่ให้มาเป็นผู้อำนวยการสถาบันที่กำลังจะเปิด หมอเฮนรี่เข้าเฝ้าพระเจ้าอธิษฐานและจึงรับปากที่จะย้ายเข้ามาในเมืองกรุงเพื่อรับหน้าที่ใหม่ที่พระเจ้าได้มอบหมายให้ด้วยความเชื่อ

ภาพที่ 1 & 2  ในเดือนมิถุนายน ปี1971 หมอเฮนรี่ต้องอาศัยความเชื่ออย่างมากอีกครั้งหนึ่ง สองสัปดาห์ก่อนที่โรงเรียนจะเปิดทำการสอนอย่างเป็นทางการมีนักศึกษาสมัครเรียนแค่สองคนเท่านั้น เนื่องจากในเวลานั้นการเรียนระดับปริญญาเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับคนไทยมาก จึงมีคนไทยน้อยคนนักที่เรียนจบ ม.8 (เทียบเท่าการจบมัธยมฯ ปลาย) และยิ่งน้อยมากขึ้นไปอีกที่จะเลือกเรียนต่อในสถาบันพระคริสตธรรมเพื่อเตรียมตัวในการเป็นผู้รับใช้เต็มเวลา แต่โดยพระคุณของพระเจ้าในวันแรกของการเรียนมีนักศึกษาเต็มเวลาเป็นชาย 5 คนและหญิงอีก 1 คน มีนักศึกษาชายคนหนึ่งยอมลาออกจากบริษัทผลิตน้ำมันยักษ์ใหญ่เพื่อจะถวายตัวเรียนพระคัมภีร์ ทั้งๆ ที่บริษัทเสนอขึ้นเงินเดือนให้เขา แต่เขาก็ปฏิเสธและย้ายเข้ามาใช้ชีวิตในสถาบันพระคริสตธรรมซึ่งเป็นบ้านไม้สองชั้นย่านสาธร ด้านล่างจะใช้เป็นห้องเรียน ส่วนชั้นบนก็จะใช้เป็นหอพักนักศึกษาชาย

ภาพที่ 3  เจ้าของบ้านไม้สองชั้นนี้ชื่อป้าสมถวิล เธอเป็นคนใจดี รักพระเจ้า ป้าเป็นหญิงโสดไม่มีลูกหลาน ป้าจึงนับเอานักเรียนนักศึกษาที่เข้ามาเรียนที่สถาบันเป็นลูกหลานของเธอ ภายหลังป้าสมถวิลขายที่ดินแปลงหนึ่งให้กับสถาบันและยกที่ดินส่วนที่เหลือถวายให้กับสถาบันเมื่อป้าเสียชีวิต พระเจ้าใช้ผู้หญิงที่มีจิตใจกว้างขวางสองคนนี้ คือนักธุรกิจหญิงและป้าสมถวิล พร้อมกับผู้ถวายอีกหลายคนช่วยทำให้สถาบันพระคริสตธรรมเป็นรูปเป็นร่างขึ้น หญิงทั้งสองคนนี้อาจไม่สามารถออกไปเป็นมิชชันนารีประกาศข่าวประเสริฐเรื่องของพระเยซูในดินแดนไกลโพ้น แต่พวกเธอได้เป็นหุ้นส่วนในการประกาศข่าวประเสริฐในชีวิตของผู้ประกาศอีกหลายร้อยคนผ่านทางการถวายของเธอ

ภาพที่ 4  เมื่อหมอเฮนรี่รับปากที่จะมารับใช้ในสถาบันเพื่อเตรียมประชากรของพระเจ้าให้เป็นผู้รับใช้คนไทยรุ่นต่อๆ ไป เขาต้องเตรียมตัวอย่างขยันขันแข็ง อ่านพระคัมภีร์กับตำราศาสนศาสตร์ภาษาอังกฤษจำนวนมากโข เพื่อเตรียมสอนเป็นภาษาไทย ในสมัยนั้นหนังสืออรรถธิบายพระคัมภีร์ คู่มือช่วยในการศึกษาพระคัมภีร์ในภาษาไทยมีจำนวนน้อยมาก ทำให้คุณหมอต้องรังสรรค์หาวิธีช่วยนักศึกษาในการค้นคว้าและเรียนพระคัมภีร์อย่างไม่หยุดหย่อน  จากชื่อ “หมอเฮนรี่” ก็ได้กลายมาเป็น “อาจารย์หมอเฮนรี่” หรือ “อาจารย์หมอ” ของนักศึกษาและครูทุกคน อาจารย์หมอไม่เป็นเพียงผู้อำนวยการสถาบันหรือครูใหญ่เท่านั้น แต่ยังเป็นนักบุกเบิก เป็นครูสอนพระคัมภีร์ที่เบิกตานักศึกษาให้เห็นความอัศจรรย์จากพระคำของพระเจ้า เป็นที่ปรึกษาปัญหาชีวิตให้กับนักศึกษา เป็นภารโรงยกโต๊ะกวาดพื้น  เป็นแบบอย่างในการประกาศที่จะใช้ทุกโอกาสเพื่อนำวิญญาณคนที่หลงหายให้กลับมาหาพระเยซู และคำขวัญประจำตัวของอาจารย์หมอ “ไม่อ่านพระคัมภีร์ ไมกินข้าว” ก็กลายมาเป็นต้นแบบให้กับนักศึกษาทุกคนในการอธิษฐานอ่านพระคัมภีร์ ทุกๆ เช้าอาจารย์หมอจะปลุกนักเรียนให้ตื่นขึ้นมาอธิษฐานอย่างไม่ว่างเว้น อาจารย์หมอบุกเบิกและถือได้ว่าเป็นผู้ช่วยปฏิรูปการศึกษาทำให้สถาบันพระคริสตธรรมมีมาตรฐานเป็นสากล อาจารย์หมอรับใช้ที่สถาบันพระคริสตธรรมกรุงเทพฯ เป็นเวลาเกือบ 28 ปี ก่อนที่ท่านจะย้ายไปจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อไปเปิดสถาบันพระคริสตธรรมอีกแห่งหนึ่งในปี 1998 เพื่อเตรียมและฝึกฝนคริสเตียนผู้รับใช้ในภาคเหนือของประเทศไทยต่อไป

ปัจจุบัน (ปี 2019) พระคริสตธรรมกรุงเทพฯ ได้เปิดทำการเป็นเวลาเกือบ 50 ปี ได้พัฒนาและเตรียมผู้รับใช้พระเจ้ามากมายที่ออกไปรับใช้พระเจ้าเป็นศิษยาภิบาล อาจารย์ ผู้ประกาศทั้งในเมืองไทย และในต่างแดนหลายประเทศ มีนักศึกษาที่ได้รับการฝึกฝนจากสถาบันนี้นับกว่า 2,000 คน

** หมายเหตุ ในปี 2019 อาจารย์หมอเฮนรี่ให้สัมภาษณ์ว่าตั้งแต่ตัดสินใจกับตัวเองว่า ถ้าไม่อ่านพระคัมภีร์ จะไม่กินอาหารเช้า ตั้งแต่นั้นมาอาจารย์หมอได้รักษากิจวัตรประจำวันนี้มาจนกระทั่งปัจจุบัน ตลอดระยะเวลา 65 ปีที่ผ่านมาจำได้ว่ามีเพียงหนึ่งวันเท่านั้นที่ไม่ได้ปฏิบัติกิจวัตรดังกล่าว**

 

พระคัมภีร์เกี่ยวข้องกับหนูอย่างไร?

ภาพที่ 5  พระคัมภีร์บอกเราว่า พระคำของพระเจ้าเปรียบเสมือนอาหารที่ใช้หล่อเลี้ยงร่างกายของเราให้เติบโตแข็งแรง อาหารให้พลังงานแก่ร่างกายของเราในการทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ เช่นเดียวกันพระคำของพระเจ้าก็ช่วยหล่อเลี้ยงชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณของเราให้เติบโตเข้มแข็ง และให้พลังกับหนูในการเชื่อฟังและทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้า อาจารย์หมอเฮนรี่รับใช้พระเจ้าเป็นเวลานานอย่างไม่ย่อท้อ เพราะท่านเติมพลังของท่านทุกๆ เช้าด้วยการอ่านพระคัมภีร์ หนูเองก็สามารถเติมพลังจากพระเจ้าในทุกๆ วันได้ด้วยการใช้เวลากับพระเจ้าเป็นประจำทุกวัน ในการอ่านพระคัมภีร์เพื่อจะรู้จักพระเจ้ามากขึ้น และในการอธิษฐานมอบทุกสิ่งไว้กับพระองค์ ให้พระองค์ช่วยหนูในทุกๆ เรื่อง หากหนูต้องการเป็นผู้รับใช้พระเจ้าที่ดี หนูจำเป็นต้องรู้จักพระองค์และมีสัมพันธ์สนิทกับพระองค์ผู้ที่หนูกำลังรับใช้อยู่

 

รูปภาพประกอบ

ข้อกำหนดในการใช้บทเรียนรูปภาพ  เราต้องการให้บทเรียนและรูปภาพประกอบเป็นพระพรสำหรับทุกท่าน ดังนั้นจึงขอความร่วมมือจากท่านที่จะไม่นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ หรือใช้ในทางที่เบี่ยงเบนไปจากวัตถุประสงค์ของเรา

คำถามอภิปราย

  1. คำขวัญประจำตัวและประจำใจของหมอเฮนรี่คืออะไร?
  2. “ไม่อ่านพระคัมภีร์ ไม่กินข้าว” มีความหมายอย่างไร? เปรียบเทียบพระคำของพระเจ้ากับอาหารที่เด็กกินทุกๆวันว่าอย่างไร?
  3. เมื่อหมอเฮนรี่ไม่สามารถทำงานในประเทศลาวได้แล้ว พระเจ้าส่งเขาไปรับใช้ที่ไหน?
  4. โรงเรียนพระคริสตธรรมต่างจากโรงเรียนที่หนูไปเรียนหนังสืออย่างไร?
  5. หนูคิดว่าทำไมหมอเฮนรี่ที่เป็นถึงผู้อำนวยการโรงเรียนและครูใหญ่ ถึงยังยอมไปกวาดพื้น จัดโต๊ะเก้าอี้ห้องเรียน หรือคอยดูแลความเป็นอยู่ของนักเรียนทุกๆคน?
  6. ในบทเรียนนี้มีผู้หญิงสองคนที่รักพระเจ้าและเห็นความสำคัญของการประกาศข่าวประเสริฐ แต่เขาไม่สามารถออกไปเป็นมิชชันนารีในต่างแดนได้ ดังนั้นพวกเธอทำอะไรเพื่อมีส่วนในงานของพระเจ้า?
  7. ในฐานะที่หนูยังเป็นเด็ก หนูยังออกไปเป็นมิชชันนารีในตอนนี้ไม่ได้ แต่หนูสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อมีส่วนในงานมิชชั่น?

กิจกรรม

“ส่งภาษารักด้วยคำหนุนใจ”

สิ่งที่ต้องเตรียม

  • กระดาษเขียนจดหมายสำหรับเด็กแต่ละคน (อาจเป็นกระดาษที่มีลวดลายสวยงาม หรือกระดาษลายเส้นธรรมดาก็ได้) พร้อมซองจดหมาย
  • ปากกาหรือดินสอตามจำนวนเด็ก
  • ชื่อและที่อยู่ของผู้รับใช้หรือมิชชันนารีที่คุณครูต้องการให้เด็กส่งจดหมายไปถึง
  • แสตมป์ (ในกรณีที่ส่งทางไปรษณีย์) หรือครูอาจใช้วิธีแสกนจดหมายเด็กแล้วส่งทางอีเมล์ก็ได้

     

วิธีทำ

  • ครูแนะนำมิชชันนารีหรือผู้รับใช้คนไทยที่ออกไปรับใช้ในต่างแดนหนึ่งคน (อาจจะเป็นต่างจังหวัดห่างไกลหรือต่างวัฒนธรรมหรือต่างประเทศก็ได้) ให้เด็กรู้จัก จะดีมากหากครูสามารถหารูปถ่ายของมิชชันนารีหรือรูปงานพันธกิจของเขาให้เด็กๆ ได้เห็น อธิบายคร่าวๆ ว่ามิชชันนารีท่านนั้นทำอะไร ที่ไหน อย่างไร และต้องการคำหนุนใจและคำอธิษฐานของพี่น้องคนอื่นๆ อย่างไรบ้าง เช่น ในเรื่องครอบครัว สุขภาพ การงานรับใช้ การต่อสู้กับอุปสรรคปัญหา การเงิน ฯลฯ
  • แจกกระดาษให้เด็กคนละแผ่น และให้เด็กเขียนจดหมายหนุนใจมิชชันนารีท่านนั้นด้วยคำพูดและคำอธิษฐานของเขา ชี้ให้เด็กเห็นว่าวันนี้ถึงแม้เขายังเป็นเด็กที่ออกไปเป็นมิชชันนารีไม่ได้ แต่เขาสามารถมีส่วนในงานรับใช้ได้โดยการอธิษฐาน และเขียนจดหมายหนุนใจผู้รับใช้ของพระเจ้า คำหนุนใจเหล่านี้สามารถเป็นเหมือนน้ำมันเครื่องที่เติมพลังให้กับงานรับใช้ของผู้รับใช้พระเจ้าได้
  • เริ่มเขียนจดหมายโดยใช้ชื่อของมิชชันนารี และจบการเขียนด้วยการลงชื่อของตัวเอง
  • พับจดหมายใส่ซองจดหมาย สอนวิธีการจ่าหน้าซองจดหมายโดยเขียนชื่อผู้ส่งและผู้รับ หลังจากนั้นติดแสตมป์ และครูสามารถนำจดหมายเหล่านี้ไปส่งให้เด็กๆ ที่ตู้ไปรษณีย์ในภายหลัง

กิจกรรม

“หุ้นส่วนในงานมิชชั่น”

สิ่งที่ต้องเตรียม

  • กล่องรองเท้า หรือ กล่องที่มีฝาเปิด-ปิดได้สำหรับเด็กแต่ละคน
  • พิมพ์รูปภาพของคน หรือสถานที่ขนาดเท่ากับกล่องสำหรับเด็กแต่ละคน (อาจจะเป็นรูปมิชชันนารี, ประเทศ หรือกลุ่มชนที่คริสตจักรมีส่วนในการสนับสนุนพันธกิจอยู่แล้วก็จะดีมาก)
  • แผ่นพลาสติกใสขนาดเท่าฝากล่อง
  • ปากกา กาว เทปกาว กรรไกร มีดคัตเตอร์
  • ป้ายเป้าหมายรูปหัวใจ  (ตามแบบ)

วิธีทำ

  1. เตรียมกล่องรองเท้าหรือกล่องกระดาษที่มาฝาเปิด-ปิดได้สำหรับเด็กแต่ละคน เจาะฝากล่องให้เหลือขอบด้านข้างประมาณ 1 นิ้ว
  2. ทากาวติดรูปมิชชันนารีหรือกลุ่มชนที่คริสตจักรต้องการถวายเงินให้ลงบนก้นของกล่องกระดาษ
  3. ติดพลาสติกแผ่นใสด้านในของฝากล่อง หลังจากนั้นเมื่อปิดฝากล่องก็จะสามารถเห็นรูปภาพด้านในกล่องได้
  4. เจาะรูด้านบนของกล่องสำหรับเป็นช่องให้ใส่เงินลงไป
  5. ติดป้ายเป้าหมายตามภาพ ระบายสีรูปหัวใจให้สวยงาม แล้วให้เด็กอธิษฐานและคิดเป้าหมายจำนวนเงินที่เด็กตั้งใจจะออมเงินส่วนตัวของเขาเพื่อจะถวายให้กับมิชชันนารีหรือกลุ่มคนบนรูปเพื่อการประกาศข่าวประเสริฐ
  6. เมื่อมีเป้าหมายจำนวนเงินให้เขียนเลขลงบนรูปหัวใจ และเมื่อเด็กใส่เงินลงในกล่องเขาสามารถระบายสีช่องว่างที่ละช่องขึ้นไปเป็นลำดับจนถึงเป้าหมายที่เขาตั้งไว้
  7. ครูกำหนดระยะเวลาในการถวาย อาจจะเป็น 1 สัปดาห์หรือ 1 เดือน หลังจากนั้นครูรวบรวมเงินทั้งหมดแจ้งให้เด็กทราบว่าได้เงินทั้งหมดจำนวนเท่าไร
  8. วันนี้เด็กได้เรียนถึงชีวิตของผู้หญิงไทยสองคนที่มีหัวใจในการถวายเพื่องานพันธกิจของพระเจ้า ถึงแม้ว่าพวกเธอจะไม่สามารถออกไปเป็นมิชชันนารีในต่างแดนได้ในเวลานั้น แต่พวกเธอตั้งใจที่จะเป็นหุ้นส่วนในพันธกิจการประกาศข่าวประเสริฐของพระเจ้าด้วยการถวายเงินและทรัพย์สินของเธอ ครูชี้ให้เด็กเห็นว่าเด็กๆ อาจจะยังออกไปเป็นมิชชันนารีไม่ได้ในเวลานี้ เพราะอายุยังน้อยและยังต้องเรียนหนังสืออยู่ แต่เด็กเองสามารถเป็นหุ้นส่วนกับมิชชันนารีและกับพระเจ้าได้ในการประกาศข่าวประเสริฐผ่านการถวายเงินของเด็กๆ

กิจกรรม

ทำที่บ้าน