เมื่อกลับบ้านวันนี้ หนูจะได้
- รู้ว่าพระเจ้าเป็นผู้เลี้ยงดู และจัดเตรียมทุกสิ่งที่จำเป็นในชีวิตให้แก่หนู
- รู้จักชาวเอสกิโม และชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขามากขึ้น
- เข้าใจว่าพระเจ้าสามารถใช้หนูในการถวายเงินส่วนหนึ่งของหนูให้แก่ผู้รับใช้พระเจ้า เพื่อพวกเขาจะสามารถออกไปทำงานที่พระเจ้ามอบหมายให้กับเขา
ข้อท่องจำ
“แต่เขาทั้งหลายผู้รอคอยพระเจ้าจะเสริมเรี่ยวแรงใหม่
เขาจะบินขึ้นด้วยปีกเหมือนนกอินทรี
เขาจะวิ่งและไม่เหน็ดเหนื่อย
เขาจะเดินและไม่อ่อนเปลี้ย” -อิสยาห์ 40:31
แผนการสอนสำหรับวันนี้
- ต้อนรับเด็กๆ ร่วมกันอธิษฐานก่อนการเดินทาง
- แจกหนังสือเดินทางให้เด็กแต่ละคนเพื่อจดบันทึก (หนังสือเดินทาง)
- ร้องเพลงสองภาษา (ภาษาไทยและภาษา... )
- ฝึกทักทายเป็นภาษาของชาวเอสกิโม
- เปิดโลก สำรวจชาวเอสกิโมและรัฐอลาสก้า
- ข้อท่องจำ
- เล่าเรื่อง “พิชิตเมืองหิมะของชาวเอสกิโม”
- อธิษฐานเผื่อพี่น้องชาวเอสกิโม
- กิจกรรม
- แจก “อ่านให้หนูฟังหน่อย” เพื่อให้เด็กนำกลับบ้านเพื่ออ่านทบทวน
แนะนำวิธีใช้หนังสือเดินทาง
- แนะนำให้จดบันทึกสิ่งต่างๆ ที่ได้เรียน ได้ฟัง และได้ทดลองทำ โดยรวบรวมข้อมูลต่างๆ แล้วเติมในช่องว่าง
- ในแต่ละช่วงโดยเฉพาะหัวข้ออธิษฐาน ครูอาจจะต้องเตือนเด็กให้นำหนังสือเดินทางของเขาขึ้นมาจดบันทึกเวลาครูแบ่งปัน
- เมื่อเด็กทำเส
ร็จสมบูรณ์แล้ว ท้ายชั่วโมงครูอาจเตรียมสติกเกอร์ติดให้เป็นรางวัลแก่เด็ก เป็นการส่งเสริมให้เด็กรู้จักจดบันทึกสิ่งที่ได้เรียนรู้มา
ข้อมูลเพิ่มเติม และเว็ปไซด์ที่สามารถนำมาฉายให้เด็กในชั้นเรียนได้เห็นภาพและเข้าใจบทเรียนมากขึ้น
- หนังสือ Operation World โดย Patrick Johnstone แนะนำประเทศต่างๆ และหัวข้ออธิษฐานเผื่อประเทศนั้นๆ
- วิกิพีเดีย หัวข้อ “เอสกิโม”
- Youtube - “Eskimo Hunter 1949” (วีดีทัศน์ แสดงถึงวิถีชีวิตชาวเอสกิโมในอดีต)
ช่วงเปิดโลก
ในอดีตอลาสก้าอยู่ในอาณาเขตของประเทศรัสเซีย และถูกซื้อโดยสหรัฐอเมริกาในปี 1876 ในราคาเพียง 7.2 ล้านเหรียญสหรัฐ(หรือไร่ละ 1 เซนต์เท่านั้น) อลาสก้าในวันนี้นับได้ว่าเป็นรัฐที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ และมีทองคำ และน้ำมันเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ อลาสก้าตั้งอยู่บนขั้วโลกเหนือจึงมีสภาพอากาศหนาวเป็นระยะเวลายาวนาน 6-8 เดือน อุณหภูมิในฤดูหนาววัดได้ต่ำสุดคือ –62 องศาเซลเซียส และมีความมืดปกคลุมไปทั่วแผ่นดินในช่วงฤดูหนาว ส่วนในฤดูร้อนอันสั้น (มิย.-สค.) อุณหภูมิจะอยู่ที่ประมาณ10-30 องศา และแสงจากดวงอาทิตย์จะส่องสว่างทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน (พระอาทิตย์เที่ยงคืน)
ชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในดินแดนน้ำแข็งแห่งนี้ก่อนที่รัฐบาลสหรัฐฯ จะเข้ามาครอบครองรู้จักกันในนามของชาวเอสกิโม เอสกิโมไม่ได้เป็นชื่อของคนเผ่าใดเผ่าหนึ่ง แต่เป็นชื่อเรียกชนพื้นเมือง ชาวอินเดียแดงที่อาศัยอยู่ในแถบไซบีเรีย อลาสก้า แคนดานา ดังนั้นเอสกิโมจึงประกอบด้วยคนหลายเผ่า หลายภาษา
ในอลาสก้ามีชนเผ่าใหญ่ๆ อยู่สองเผ่า คือ เผ่ายูปิค และเผ่าอินูอิท เนื่องจากสภาพอากาศและผืนดินไม่เอื้ออำนวยในการทำการเกษตรกรรม ชนพื้นเมืองเหล่านี้มีอาชีพหลักคือการล่าสัตว์ และหาปลา เพื่อเก็บไว้เป็นอาหาร และทำเครื่องนุ่งห่ม และของใช้ต่างๆ ส่วนหนังสัตว์ ขนสัตว์ที่เหลือจะถูกนำไปแลกเปลี่ยนแทนเงินเพื่อซื้อสิ่งจำเป็นอื่นๆ ที่พวกเขาหาจากธรรมชาติไม่ได้ เช่น ไข่ นมผง ปืนและลูกกระสุน เป็นต้น พาหนะที่สำคัญของชาวเอสกิโมคือลากเลื่อนกับทีมสุนัขที่ถูกฝึกมาอย่างดีสำหรับการเดินทางบก และเรือคานูที่ทำจากหนังสัตว์สำหรับออกไปล่าปลาและสัตว์น้ำในทะเล
ในปัจจุบัน มีชาวอเมริกันผิวขาวย้ายเข้าไปตั้งหลักแหล่งในอลาสก้าเป็นจำนวนมาก เทคโนโลยีและความเจริญทำให้วิถีชีวิตของชนพื้นเมืองค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปเช่นเดียวกับชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ทั่วโลก แต่ชาวเอสกิโมถือได้ว่าเป็นชนเผ่าที่สามารถรักษาประเพณีวัฒนธรรมของตนเองได้อย่างเหนียวแน่นที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกา
ที่มา : https://th.wikipedia.org
พิชิตเมืองหิมะของชาวเอสกิโม
ภาพที่ 1 งานบันทึกเสียงข่าวประเสริฐเริ่มจากผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่ร่างกายอ่อนแอ และไม่มีทรัพย์สินอะไร พระเจ้าให้จอยเริ่มงานทำแผ่นเสียงข่าวประเสริฐเป็นภาษาสเปน และเมื่อแผ่นเสียงถูกส่งไปฮอนดูรัส มันก็เกิดผลอย่างมากมาย มีจดหมายเขียนมาด้วยความตื่นเต้นว่าแผ่นเสียงมีประโยชน์อย่างมากในการประกาศ และต้องการขอแผ่นเสียงเพิ่ม จอยใช้ห้องนอนของเธอเองเป็นที่ทำงาน แอน เพื่อนสาวคนหนึ่งของจอยตัดสินใจมาร่วมงานกับเธอ พวกเธอตั้งใจเพียงว่าจะเจาะจงงานบันทึกเสียงสำหรับประเทศเล็กๆ คือฮอนดูรัส แต่พระเจ้ามีแผนการที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นสำหรับจอยและเพื่อนของเธอ แผ่นเสียงไม่ได้ถูกใช้ในฮอนดูรัสประเทศเดียว มันยังถูกใช้ในประเทศอื่นๆ ที่ใช้ภาษาสเปนทั่วโลก (ปัจจุบันมีคนพูดภาษาสเปนประมาณ 300 –500 ล้านคนทั่วโลก)
จากฮอนดูรัสสู่ประเทศที่ใช้ภาษาสเปน ยังมีผู้รับใช้ท่านอื่นมาขอร้องให้พวกเธอไปช่วยบันทึกเสียงข่าวประเสริฐให้กับชาวอินเดียแดงเผ่าต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา และจอยกับแอนก็รู้ว่าพระเจ้ากำลังขยายงานของพวกเธอออกไปไม่ใช่เฉพาะคนที่พูดภาษาสเปน หรือชาวอินเดียแดงเท่านั้น แต่สู่สุดปลายแผ่นดินโลก
ชาวเอสกิโม ชนพื้นเมืองที่อาศัยบริเวณขั้วโลกเหนือ รัฐอลาสก้าเป็นจุดหมายต่อไปของจอยและแอน อลาสก้าดินแดนน้ำแข็งที่สหรัฐซื้อมาจากประเทศรัสเซีย ฤดูหนาวมีน้ำแข็งปกคลุมถึง 6-8 เดือนต่อปี อากาศหนาวเย็นติดลบชนิดที่ว่าหนาวกว่าช่องแช่แข็งในตู้เย็นเสียอีก ถนนทางหลวงที่เปิดใช้เป็นทางเปลี่ยวจะมีปั๊มน้ำมันแต่ละปั๊มห่างกันถึง160 กม.ทีเดียว และอาจจะปิดให้บริการในช่วงฤดูหนาว จอยและแอนแน่ใจว่าการเดินทางไปอลาสก้าเป็นแผนการของพระเจ้า เพราะคนที่นั่นต้องการพระกิตติคุณอย่างยิ่ง ช่วงฤดูหนาวอันยาวนานและมืดมิดแต่ละปี คนเหล่านั้นเบียดเสียดอาศัยอยู่ในกระท่อมหรือบ้านใต้ดินตลอดฤดูหนาว พวกเขาไม่อ่านหนังสือ ไม่มีโทรทัศน์ ไม่มีรายการวิทยุเป็นภาษาของเขา ทำให้เกิดปัญหาการติดเหล้า โรคซึมเศร้า เครื่องเล่นแผ่นเสียงข่าวประเสริฐเป็นภาษาของพวกเขาคือคำตอบที่ชัดเจนที่สุด
ภาพที่ 2 แต่เมื่อจอยและแอนวางแผนการเดินทางผ่านเทือกเขาร๊อคกี้ข้ามประเทศแคนนาดาไปยังอลาสก้า มีหลายคนท้วงติงว่ามันอันตรายเกินไปสำหรับผู้หญิงสองคนที่จะเดินทางตามลำพัง ควรจะมีผู้ชายสักคนไปด้วยกันกับพวกเขาด้วย เพราะในเวลานั้นอลาสก้ายังไม่ขึ้นทะเบียนเป็นรัฐหนึ่งในสหรัฐอเมริกา เป็นเพียงอาณานิคมที่ถูกซื้อมาจากประเทศรัสเซีย ดินแดนแห่งนี้จึงเป็นผืนป่า ไม่มีถนนหนทางที่สะดวกสบาย แล้วจอยก็ยิ้มออกเมื่อพระเจ้าประทานพระคำของพระองค์แก่เธอ เมื่อเธอเข้าเฝ้าพระเจ้าในเช้าวันหนึ่ง อิสยาห์ 40:30-31 กล่าวว่า “แม้คนหนุ่มๆ จะอ่อนเปลี้ยและเหน็ดเหนื่อย และชายฉกรรจ์จะล้มลงทีเดียว แต่เขาทั้งหลายผู้รอคอยพระเจ้าจะเสริมเรี่ยวแรงใหม่ เขาจะบินขึ้นด้วยปีกเหมือนนกอินทรี เขาจะวิ่งและไม่เหน็ดเหนื่อย เขาจะเดินและไม่อ่อนเปลี้ย”
ปี 1947 การเดินทางในสมัยนั้นไม่สะดวกสบายเหมือนปัจจุบัน เขาต้องเตรียมถุงนอนอย่างหนา อุปกรณ์ในการพักแรม และเครื่องมือที่จะใช้ในการบันทึกเสียง แต่อุปกรณ์เครื่องมือที่พวกเธอมีอยู่นั้นมีน้ำหนักมาก และไม่สามารถทนต่อสภาพการเดินทางที่ลำบากบนลากเลื่อนสุนัข หรือบนเรือคานูที่ผ่านน้ำเชี่ยวได้ มีเพื่อนคนหนึ่งเสนอขายเครื่องบันทึกเสียงรุ่นใหม่ที่มีน้ำหนักเบาให้ในราคาต้นทุน ในเวลานั้นพวกเธออยากรับข้อเสนอนั้นแต่เธอไม่มีเงินพอที่จะซื้อมัน จอยนึกถึงสัญญาของพระเจ้าว่า “พระเจ้าจะประทานสิ่งสารพัดที่พวกท่านขาดอยู่นั้น” โดยความเชื่อ จอยสั่งให้เพื่อนของเธอส่งเครื่องบันทึกเสียงตัวนี้ไปรอที่ชายแดนประเทศแคนนาดา (เป็นทางผ่านก่อนที่จะข้ามเทือกเขาร๊อคกี้ไปยังอลาสก้า) และสัญญาว่าเธอจะชำระเงินเมื่อไปรับของ ระหว่างทางจากแอลเอไปถึงรัฐวอชิงตันก่อนจะข้ามเขตชายแดน จอยและแอนอธิษฐานทูลขอพระเจ้าในเรื่องนี้โดยไม่ได้บอกความจำเป็นเรื่องเงินนี้แก่ใครอื่น พระเจ้าเปิดโอกาสให้พวกเธอได้แบ่งปันนิมิตของการบันทึกเสียงข่าวประเสริฐตาม คริสตจักรต่างๆ โดยไม่ได้เอ่ยถึงเรื่องเงินที่พวกเธอจำเป็นจะต้องจ่ายสำหรับค่าเครื่องบันทึกเสียงที่ชายแดนนี้เลย ถึงอย่างนั้นก็ตามมีคนมากมายช่วยกันถวายเงินเพื่อสนับสนุนงานของพวกเธอ และเมื่อถึงชายแดนที่จะข้ามไปประเทศแคนนาดา เงินที่พวกเธอได้รับเมื่อนับดูแล้วก็พอดีสำหรับค่าเครื่องบันทึกเสียงทุกบาททุกสตางค์ทีเดียว
ภาพที่ 3 การเดินทางของเธอผ่านเทือกเขาร๊อคกี้ ที่ราบยูคอนและในที่สุดก็มาถึงอลาสก้าจุดหมายปลายทาง ที่นั่นพวกเธอเริ่มงานบันทึกเสียงเป็นภาษาเผ่าต่างๆ อย่างไม่รอช้า เพราะ ในแต่ละปีอลาสก้าจะมีเพียง 3-4 เดือนสั้นๆ ในช่วงฤดูร้อนที่ไม่มีหิมะ เธอทั้งสองมีเวลาไม่มากในการทำงานก่อนที่ฤดูหนาวอันโหดร้ายจะคืบคลานเข้าปกคลุมดินแดนแห่งนี้อีกครั้ง ในช่วงฤดูหนาวอากาศจะเหน็บหนาวมาก แผ่นดินปกคลุมไปด้วยหิมะ อุณหภูมิสามารถติดลบถึง 40-50 องศาเซสเซียสได้เลยทีเดียว ยิ่งกว่านั้นในช่วงฤดูหนาวอลาสก้ายังมีความมืดเข้ามาปกคลุมมากขึ้นเรื่อยๆ จนวันที่มืดที่สุดของแต่ละปี จะมีแสงสว่างสลัวๆ เพียง 2-3 ชม.ต่อวันเท่านั้น ชาวเอสกิโมที่นั่นเป็นคนขี้อาย รักสันโดษ พวกเขาจะไม่เข้ามาในหมู่บ้านหรือแคมป์คนงาน ดังนั้นหนทางเดียวที่จะสามารถอัดเสียงพวกเขาได้คือต้องเดินทางเข้าไปในป่าเพื่อหาพวกเขา ชาวเอสกิโมเองก็มีหลายเผ่า แต่ละเผ่าก็พูดภาษาต่างกัน พวกเธอต้องไปหากลุ่มต่างๆ และชักชวนให้คนที่พูดได้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาเผ่าตนเองมาช่วยบันทึกเสียงให้พวกเธอ
ภาพที่ 4 การทำงานกับชนเผ่าที่มีวัฒนธรรม ภาษาต่างกัน ย่อมมีปัญหาเกิดขึ้น และแน่ทีเดียวเมื่อพวกเธอกำลังนำความสว่างของพระกิตติคุณเข้าไปบุกในดินแดนที่เหน็บหนาวและมืดมนเช่นนี้ เจ้าแห่งความมืดคือมารซาตานก็พยายามอย่างเต็มที่ที่จะจู่โจมและทำลายงานของพวกเธอ ความสงสัย ความเข้าใจผิด ความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น โดยไม่มีสาเหตุทำให้งานของพวกเธอล่าช้าออกไป แต่พวกเธอก็ไม่ท้อถอย พวกเธอเผชิญหน้ากับการต่อสู้เหล่านี้ด้วยใจที่ไม่หวั่นไหว และยึดพระสัญญาของพระเจ้าในอิสยาห์ 40:31 เขาทั้งหลายผู้รอคอยพระเจ้าจะเสริมเรี่ยวแรงใหม่ เขาจะบินขึ้นด้วยปีกเหมือนนกอินทรี เขาจะวิ่งและไม่เหน็ดเหนื่อย เขาจะเดินและไม่อ่อนเปลี้ย และในที่สุดงานของพวกเธอก็สำเร็จได้
บทเรียนนี้เกี่ยวข้องกับหนูอย่างไร?
ภาพที่ 5
- ในงานรับใช้พระเจ้า จอยและแอนจะไม่สามารถเดินทางไปบันทึกเสียงในที่ห่างไกลได้เลย หากพวกเธอไม่ได้รับเงินสนับสนุน พระเจ้าเป็นผู้จัดเตรียมและประทานสิ่งสารพัดที่จำเป็นให้พวกเธอในการรับใช้ ในขณะเดียวกันพระเจ้าก็ใช้คนอีกหลายคนในการถวายเงินเพื่อสนับสนุนงานนั้น วันนี้หนูสามารถเป็นเครื่องมือที่พระเจ้าใช้ได้ หนูสามารถถวายเงินส่วนหนึ่งเพื่อสนับสนุนผู้รับใช้ของพระเจ้าเพื่อเขาจะได้เอาไปใช้ในงานของพระเจ้า หรือเมื่อหนูโตขึ้น หนูสามารถเป็นคนที่ออกไปเหมือนจอยและแอน เพื่อนำข่าวดีไปบอกกับคนที่อยู่ห่างไกลและไม่เคยมีโอกาสได้ยินเรื่องของพระเยซูมาก่อน
- เมื่อเรากำลังทำงานของพระเจ้า มักจะมีการต่อสู้ฝ่ายวิญญาณเสมอ สิ่งหนึ่งที่หนูควรจะทำคือไม่ย่อท้อในการทำดี ไม่หวั่นไหวเมื่อหนูกำลังทำสิ่งที่ถูกต้องในสายตาของพระเจ้า และยึดมั่นสัญญาของพระเจ้าไว้ให้มั่น และพระองค์จะกระทำให้สำเร็จแน่นอน
รูปภาพประกอบ
ข้อกำหนดในการใช้บทเรียนรูปภาพ เราต้องการให้บทเรียนและรูปภาพประกอบเป็นพระพรสำหรับทุกท่าน ดังนั้นจึงขอความร่วมมือจากท่านที่จะไม่นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ หรือใช้ในทางที่เบี่ยงเบนไปจากวัตถุประสงค์ของเรา
- ปัญหาใหญ่และเรื้อรังของชาวเอสกิโมตั้งแต่ในอดีตจนปัจจุบันนี้คือ ความยากจน การติดเหล้า เพราะสภาพภูมิประเทศและอากาศที่หนาวเย็น ขอพระเจ้าจะใช้สี่อพระกิตติคุณในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะผ่านเทป ซีดี ดีวีดี และการแปลพระคัมภีร์ในภาษาของเขาเองให้พระวิญญาณบริสุทธิ์เปิดตาใจฝ่ายวิญญาณให้พวกเขาได้เข้าใจข่าวประเสริฐของพระเจ้า
- อธิษฐานเผื่อเด็กๆ ชาวเอสกิโมที่พระเจ้าจะช่วยพวกเขาให้เติบโตขึ้นด้วยความภาคภูมิใจในเชื้อชาติของเขา ที่พวกเขาจะสามารถเอาชนะการดูถูกเหยียดหยามและความเลื่อมล้ำของสังคม ขอพระเจ้าจะให้พวกเขาได้รู้ว่าพวกเขามีคุณค่าและพระองค์ทรงรักเขา
- ผู้รับใช้พระเจ้า มิชชันนารีที่รับใช้พระเจ้าในดินแดนแห่งนี้ ขอพระเจ้าจะเสริมทั้งกำลังกายในการต่อสู้กับสภาพอากาศที่เหน็บหนาว การดำรงชีวิตที่ยากลำบาก และกำลังใจในการประกาศข่าวประเสริฐกับชาวเอสกิโม ผู้ไม่ค่อยยอมรับคนนอก เนื่องจากประสบการณ์การกดขี่ข่มเหงในอดีตที่เขาได้รับ ทำให้เขาไม่ต้องการที่จะไว้วางใจผู้อื่น
กิจกรรม
ไอศครีมเกล็ดหิมะ (Snow Cone)
เมนูขนมหวานง่ายๆ ที่ทำกันในช่วงฤดูหนาว เมื่อมีหิมะที่ตกลงมาใหม่ๆ (ถือว่าเป็นหิมะที่สะอาด) หิมะที่ตกในใจกลางรัฐอลาสก้ามีลักษณะแห้ง เบา คล้ายแป้งฝุ่นเลยทีเดียว เด็กๆ จะไปตักหิมะใส่กรวย ใส่ถ้วย แล้วราดด้วยน้ำหวาน น้ำผลไม้ หรือนม แค่นี้ก็เป็นขนมหวานที่ไม่มีเด็กคนไหนปฎิเสธได้ (ลักษณะคล้ายน้ำแข็งใสของเรา)
สิ่งที่ต้องเตรียม
- โคนกระดาษ (หรือจะเป็นโคนกรอบสำหรับใส่ไอศครีมก็ได้)
- ที่ไสน้ำแข็ง หรือเครื่องปั่นที่สามารถปั่นน้ำแข็งให้เป็นเกล็ดหิมะได้
- น้ำแข็งก้อน
- น้ำหวานหลากสี (จะใช้น้ำข้นหวาน น้ำผลไม้ หรือไซรัปสำหรับราดหน้าไอศครีมก็ได้)
วิธีทำ
- เตรียมโคนสำหรับเด็กๆ ทุกคน
- ไสน้ำแข็งให้เป็นเกล็ดหิมะ ตักใส่บนโคน
- ราดน้ำหวานที่เตรียมไว้ และจัดเสริฟ หรือจะให้เด็กเป็นคนเลือกและราดน้ำหวานด้วยตัวเองก็ได้ ครูควรเตรียมถาดรองน้ำหวานที่อาจหกเลอะเทอะไว้ แต่รับรองว่าการได้ทำอะไรด้วยตัวเด็กเองนั้นคุ้มค่ากว่าการเช็ดน้ำหวานเหนียวๆ แน่นอน
กิจกรรม
บ้านน้ำแข็งอิกลู (Igloo)
อิกลูเป็นชื่อเรียกบ้านทรงครึ่งวงกลมหรือโดมที่ชาวอินูอิททำขึ้นจากหิมะที่อัดเป็นก้อนแข็ง สำหรับชาวอินูอิทแล้วคำว่า”อิกลู” มีความหมายตรงตัวว่า “บ้าน” ซึ่งไม่จำกัดแต่บ้านที่สร้างด้วยหิมะ แต่อาจถูกสร้างจากขอนไม้ หนังสัตว์และกระดูกปลาวาฬได้เช่นกัน บ้านหิมะนี้เมื่อสร้างเสร็จโดยการนำก้อนหิมะมาเรียงกันตั้งแต่ฐานจนถึงยอดโดมแล้ว ก็จะใช้หิมะทำหน้าที่เหมือนปูนโบกภายในให้ทั่วและหิมะนี้จะทำหน้าที่เป็นฉนวนกันความหนาวเย็นได้เป็นอย่างดี หากอากาศภายนอกหนาวถึง -40 องศาเซลเซียส ภายในบ้านอิกลูนี้จะมีอุณหภูมิประมาณเพียง –7 องศา และเมื่อก่อไฟภายในบ้านหลังเล็กๆ ก็จะอุ่นสบายพอดี อิกลูมีอยู่ 3 ลักษณะใหญ่คือ
- อิกลูหลังเล็กที่ถูกสร้างเพื่อใช้พักแรมเพียง 1-2 วันเท่านั้นในระหว่างออกไปล่าสัตว์
- อิกลูสำหรับครอบครัว จะมีขนาดใหญ่ขึ้น สามารถจุสมาชิกทั้งครอบครัวได้ การสร้างจะสร้างเป็นโดมใหญ่มีเพียงห้องเดียวเท่านั้น
- อิกลูขนาดใหญ่ อาจมีห้องแยกถึง 5 ห้องได้ทีเดียว ในบางหมู่บ้านจะสร้างอิกลูที่มีทางเชื่อมต่อกันหลายๆ หลัง
สิ่งที่ต้องเตรียม
- น้ำตาลก้อน (มีลักษณะเป็นก้อนสี่เหลี่ยมสีขาว ใช้สำหรับใส่ชา กาแฟ)
- กระดาษแข็ง สำหรับทำฐาน
- น้ำเปล่าเล็กน้อย
วิธีทำ
- วางกระดาษแข็งเป็นฐาน เริ่มเรียงน้ำตาลก้อนตามเข็มนาฬิกา และเว้นช่องสำหรับทำท่อประตูทางเข้าไว้
- ใช้น้ำเปล่าเล็กน้อยเป็นกาวเพื่อประสานน้ำตาลแต่ละก้อนให้ติดกัน
- ค่อยๆ เรียงน้ำตาลชั้นที่สองให้เคลื่อนเข้ามาด้านในเล็กน้อย ทำเช่นนี้ในชั้นต่อๆ ไป เพื่อจะได้บ้านน้ำตาลก้อนมีลักษณะโค้งเป็นโดมครึ่งวงกลม
- หมายเหตุ ขนาดของฐานและจำนวนน้ำตาลก้อนที่จะใช้ต่อเป็นอิกลูขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของคุณครู ว่ามีจำนวนเด็กมากน้อยเพียงใด กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมกลุ่ม หากมีเด็กจำนวนมาก คุณครูอาจแบ่งเด็กออกเป็นกลุ่ม และให้แต่ละกลุ่มทำอิกลูประกวดความสวยงามเรียบร้อยกันได้
กิจกรรม
ชาวเอสกิโม
ชาวเอสกิโมส่วนใหญ่อาศัยอยู่แถบขั้วโลกเหนือ ซึ่งมีอากาศหนาวเย็นและมีหิมะปกคลุมเกือบตลอดทั้งปี พวกเขาดำรงชีวิตด้วยการล่าสัตว์และตกปลา (เช่น หมี กวางมูส คาราบู จิ้งจอก แมวน้ำ วาฬ ปลาซัลมอน เป็นต้น) เนื้อสัตว์ที่ได้จะถูกเก็บไว้เป็นอาหารตลอดทั้งปี ส่วนของกระดูกจะถูกดัดแปลงเป็นอาวุธ เครื่องมือ และเครื่องใช้ต่างๆ ส่วนหนังและขนสัตว์จะใช้ทำเครื่องนุ่งห่มซึ่งใช้เป็นเครื่องป้องกันความเหน็บหนาวและทนทานต่อสภาพอากาศได้เป็นอย่างดี(รองเท้าบู๊ท หรือเสื้อกันหนาวที่ทำจากหนังเทียม หรือวัสดุที่ผสมพลาสติก ไม่สามารถทนต่ออากาศหนาวจัดได้ วัสดุเหล่านี้จะเย็นถึงจุดเยือกแข็งและอาจจะขาดหรือแตกได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่ใช้) เราเรียกเสื้อกันหนาวที่ทำมาจากขนสัตว์ (ส่วนใหญ่จะเป็นขนแมวน้ำหรือขนกวางเรนเดียร์) ว่า “พาร์คก้า” และรองเท้าบู๊ทว่า “มัคลัค”
สิ่งที่ต้องเตรียม
- แบบภาพถ่ายเอกสาร
- สำลี และไหมพรมสีต่างๆ
- สีไม้หรือสีเทียน และปากกาสำหรับตัดเส้น
- กาว
วิธีทำ
- แจกแบบภาพชาวเอสกิโมให้เด็กแต่ละคน
- ให้เด็กระบายสีตกแต่ง “พาร์คก้า” และ “มัคลัค” ของชาวเอสกิโมให้สวยงาม
- หลังจากนั้นทากาวรอบๆ หมวก ขอบแขนและชายเสื้อพอสมควร แล้วใช้สำลีติดให้ทั่ว
- ปั้นสำลีเป็นก้อน ผูกด้วยไหมพรมและนำไปตกแต่งเป็นหูรูดของหมวก (ดูภาพประกอบ)